ALT ลุยขยายแพลตฟอร์มชุมสายอินเทอร์เน็ตเกตเวย์
รองรับยอดใช้แบนด์วิดท์ “ในประเทศ – อาเซียน” โตก้าวกระโดด
กลุ่มเอแอลที ลุยขยายแพลตฟอร์มชุมสายอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ รองรับยอดใช้แบนด์วิดท์โตก้าวกระโดด คาดไตรมาส 4/64 ยอดใช้พุ่ง 180 Gbps จากทั้งปี 63 อยู่ที่ 80 Gbps เป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้เกิดการใช้ชีวิตแบบ New Normal และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงาน มีการใช้นโยบาย Work from Home ดันความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น
นายสมชาย ตรีรัตนนุกูล รองกรรมการผู้จัดการสายงานการตลาดและการขาย บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เกทเวย์ จำกัด (IGC) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทเอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT ประกอบธุรกิจให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม สำหรับบริการวงจรสื่อสารความเร็วสูง และบริการชุมสายอินเทอร์เน็ตทั้งในประเทศและต่างประเทศเปิดเผยว่า บริษัทได้มีการลงทุนขยายแพลตฟอร์มชุมสายแลกเปลี่ยนอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น จากเดิมที่รองรับความต้องการใช้แบนด์วิดท์ลูกค้าได้ 200 Gbps ไปเป็นแพลตฟอร์มที่รองรับแบนด์วิดท์ได้ถึง 600 Gbps
ทั้งนี้บริษัทคาดการณ์ว่าความต้องการใช้แบนด์วิดท์จะมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้กลายพันธุ์และกลับมาแพร่ระบาดหนักทั่วโลก ส่งผลให้ต่างประเทศรวมทั้งประเทศไทยประกาศล็อคดาวน์ มีนโยบายให้ทำงานที่บ้าน(Work from Home) ส่งผลให้ความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น โดยบริษัทคาดว่าภายในไตรมาส 4/64 จะมีลูกค้าใช้งานแบนด์วิดท์ถึง 180 Gbps จากปี 2563 มีลูกค้าใช้งานรวม 80 Gbps
นายสมชาย กล่าวต่อว่า หลังจากที่บริษัทได้เริ่มเปิดให้บริการแพลตฟอร์มชุมสายแลกเปลี่ยนอินเทอร์เน็ตทั้งในประเทศและต่างประเทศ (IIG and NIXplatform) เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาโดยใช้ไทยเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมต่อเพื่อแลกเปลี่ยนอินเทอร์เน็ตระหว่างผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้งแบบมีสาย (Fixed Broadband) และไร้สาย (Mobile Broadband) รวมทั้งผู้ให้บริการคอนเทนต์อินเทอร์เน็ตทั่วโลกพบว่ามีลูกค้าทั้งจากในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมาร์ กัมพูชา และลาวเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ จากข้อมูลการสำรวจของ Google และ Temasek พบว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้ Internet เพิ่มขึ้นในช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ มีแนวโน้มที่จะยังคงมีพฤติกรรมการใช้งาน Internet ต่อเนื่องไปอีก แม้จะกลับไปทำงานแบบ Hybrid หรือแม้แต่กลับไปทำงานเหมือนเดิมแล้วก็ตาม
“ประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมกับการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อแลกเปลี่ยนอินเทอร์เน็ต (Digital Hub) ทำให้ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม นิยมมาใช้ไทยเป็นจุดแลกเปลี่ยน ซึ่ง IGC มีความได้เปรียบด้านการแข่งขันเนื่องจากกลุ่ม ALT ได้ลงทุนสร้างโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงไว้หลากหลายเส้นทางและมีความปลอดภัยสูง มีจุดเชื่อมต่อจำนวนมากสามารถออกแบบโครงข่ายได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าและสามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็ว” นายสมชายกล่าว
รองกรรมการผู้จัดการสายงานการตลาดและการขาย IGC กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการให้บริการเช่าใช้โครงข่ายสื่อสัญญาณความเร็วสูงเพื่อการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในรูปแบบเป็นเกตเวย์มีทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศอาเซียนถือเป็นฐานลูกค้าหลัก ซึ่งลูกค้ากลุ่มดังกล่าวมีความเชื่อมั่นและพึงพอใจกับการให้บริการของ IGC อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่าหลังจากที่บริษัทได้มีการการลงทุนขยายแพลตฟอร์มชุมสายแลกเปลี่ยนอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นให้สามารถรองรับแบนด์วิดท์ได้ถึง 600 Gbps จะทำให้ฐานลูกค้าของ IGC เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และยังสามารถต่อยอดไปยังธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องได้อีกต่อไปในอนาคต