บริษัท เอแอลที เทเลคอม (ALT) เป็นหุ้นเทค หนึ่งในผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจดิจิทัล-พลังงานทดแทน ได้ทุ่มงบจำนวนมากลงทุนมานานหลายปี เพราะมองเห็นโอกาสทางธุรกิจสดใสในระยะยาว จากกระแสเมกะเทรนด์ของโลก และรัฐบาลผลักดันนโยบายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) เป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามที่บริษัทคาดการณ์ไว้ โดยจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากการลงทุนได้ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป รวมถึงงานในมือ (Backlog) จำนวน 1,307.9 ล้านบาท เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ก็จะรับรู้รายได้เกือบทั้งหมดภายในปีนี้ ทำให้ผลการดำเนินงานพลิกมีกำไรสุทธิได้ เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ -133 ล้านบาท
“เอแอลที เทเลคอม” ได้ขยายการลงทุน ต่อยอดธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม มาสู่โครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจดิจิทัล-พลังงานทดแทน เพื่อสร้าง New S-curve อาทิ ระบบเคเบิลใต้น้ำ, ธุรกิจเมืองอัจฉริยะ (Smart city) ธุรกิจแพลตฟอร์มอัจฉริยะ, ธุรกิจพลังงานอัจฉริยะ (Smart Grid & Smart Energy ) การบุกครั้งนี้สามารถขยายขอบเขตการให้บริการครอบคลุมถึงประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย นับว่าเดินมาถูกทาง และเป็นจังหวะที่ดีมาก เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ส่งผลให้ประเทศไทยมีการใช้โซเชียลมีเดียสูงที่สุดในเอเซีย และพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงมาก เกิด New normal เป็นตัวเร่งให้ภาคเศรษฐกิจและภาคธุรกิจตื่นตัว นำเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่เข้าไปเปลี่ยนโฉมการดำเนินงาน เพื่อหาโอกาสจากตัวขับเคลื่อนใหม่ๆ (New growth driver) แต่กว่าจะมาเป็นออนไลน์ ดิจิทัล และแพลตฟอร์มได้ จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานของโทรคมนาคม และยังเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกธุรกิจ เช่น ธนาคาร การชำระเงิน และไฟฟ้า เป็นต้น
ที่สำคัญธุรกิจของ ALT ยังได้รับประโยชน์ จากการเป็น ASEAN Digital Hub ของประเทศไทย ซึ่งมีโอกาสสูงมาก เมื่อพิจารณาจากการดำเนินนโยบาย เช่น EEC ที่ให้สิทธิประโยชน์การลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ไทยเป็นจุดกึ่งกลางมากที่สุดในการเชื่อมตะวันออกและตะวันตก จากยุโรป ไปญี่ปุ่น มีพื้นที่ติดต่อชายแดนหลายประเทศ ลาว กัมพูชา สามารถวางโครงข่ายโทรคมนาคมเชื่อมต่อไปยังประเทศที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่สำคัญของโลก และเชื่อมต่อโดยตรงไปยังภูมิภาคอื่นๆ ขณะเดียวกันเป็นจังหวะเหมาะกับที่ประเทศสิงคโปร์ ในฐานะฮับอินเทอร์เน็ตในอาเซียน มีปัญหาเรื่องไฟฟ้าไม่พอใช้ ห้ามลงทุนเพิ่ม ทำให้บริษัทที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ ต้องหาที่ลงทุนตั้งฐานข้อมูลสำรอง และสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น นอกจากทำเลดี ไทยยังมีการลงทุนพลังงานสีเขียว ซึ่งนักลงทุนข้ามชาติให้ความสนใจเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม จึงมีการติดต่อซื้อที่ดิน สร้างดาต้าเซ็นเตอร์และระบบคลาวด์ เช่นเดียวกับผู้ใช้ดาต้าขนาดใหญ่ (Hyper Scaler) ในโลกที่มี 4 รายใหญ่ ก็สนใจประเทศไทย ตอนนี้มี Hyper Scaler 1 รายเลือกใช้โครงข่ายของ ALT แล้ว รอเซ็นสัญญา ส่วนรายที่ 2 กำลังเจรจาคาดจะได้ข้อสรุปในเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งแต่ละบริษัทจะสร้างรายได้ให้มากกว่า 1,000 ล้านบาท สำหรับสัญญาระยะยาว 15 ปี
“การใช้ไทยเป็นฐาน ช่วยลดระยะทางของเคเบิ้ลใต้น้ำสั้นลงประมาณ 800 – 1,000 กิโลเมตร เมื่อเทียบกับฮับที่สิงคโปร์ ช่วยลดความหน่วงลง สามารถส่งข้อมูลได้เร็วขึ้น ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมทางการเงิน การซื้อขายหุ้น, คริปโต และอุตสาหกรรมเกมส์ต่างๆ แต่การเป็นฮับของไทยจะต้องมีการลงทุนเพิ่ม ปัจจุบันสิงคโปร์ มีสายเคเบิ้ลใต้น้ำ 29 เส้น ส่วนของไทยสร้างมาตั้งนานมีเพียง 8 เส้น และกำลังลงทุนเพิ่มอีก 7 เส้น ซึ่งยังไม่เพียงพอ จะต้องหาพันธมิตรมาร่วมลงทุนด้วย”
ส่วนธุรกิจอื่นของ ALT ก็มีการเติบโตและความก้าวหน้า เช่น ระบบเคเบิลใต้น้ำและสถานีเชื่อมต่อเคเบิลใต้น้ำ ที่ได้ใบอนุญาตจาก กสทช. ลงทุนใน 3 จังหวัด ที่สตูล สงขลา และระยอง เริ่มลงทุนแล้วในพื้นที่จังหวัดสตูล คาดเส้นแรกจะเสร็จในไตรมาสที่ 2/2565 สร้างรายได้เส้นละ 20 ล้านบาท/ปี สัญญา 25 ปี จะมีการลงทุนเส้นที่ 2 และ 3 ตามมา เพื่อเชื่อมต่อระบบระหว่างประเทศ ในส่วนประเทศไทยฝั่งทะเลอันดามันไปยังจุดเชื่อมต่อในมหาสมุทรอินเดีย รองรับการเชื่อมโยงระบบสื่อสารระหว่างประเทศในอาเซียน เริ่มจากประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย เมียนมาร์และไปสิ้นสุดที่ประเทศอินเดีย
นอกจากนั้น บริษัทมีธุรกิจเชื่อมต่อข้อมูลข้ามประเทศ 15 Border ยอดขาย 300 ล้านบาท/ ปี แม้ยังสร้างกำไรให้ไม่มากนัก แต่เป็นสัญญาระยะยาวประมาณ 15-25 ปี
ธุรกิจสมาร์ทซิตี้ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของแต่ละจังหวัดดีขึ้น มีการวางดิจิทัลและแพลตฟอร์มแล้ว มีการลงพื้นที่ให้ข้อมูลและความรู้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ปีนี้น่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมเกิดขึ้น
ส่วน Smart Grid มีการวางระบบและติดตั้งโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ นำร่องที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นตัวพิสูจน์ผลงานได้ดี มีความเป็นไปได้สูงที่รัฐจะขยายขนาดของโครงการให้ครอบคลุมหัวเมืองสำคัญทั่วประเทศ จึงเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูง นอกจากนี้ยังมีการขยายธุรกิจลงทุนและติดตั้งอุปกรณ์โซลาร์รูฟท็อป ได้รับการตอบรับที่ดีมาก ช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องพลังงานให้แก่ลูกค้า โดยไม่ต้องลงทุนเอง เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศไทย บรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero ) ภายในปี 2585 ผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนในปีนี้ ยังไม่รวมถึงการร่วมลงทุนกับพันธมิตรหลายราย เช่น บริษัท ราช กรุ๊ป (RATCH) มีความสำเร็จของงานเกิดขึ้น มีการเซ็นเอ็มโอยูกับ กฟผ. ใช้โครงข่ายไฟเบอร์ร่วมหรือ Fiber Space และยังมีแผนขยายการลงทุนอีกหลายโครงการ สร้างการเติบโตอย่างมั่นคงให้กับ ALT ในระยะยาว ทำให้ผลผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นดีขึ้นไปด้วยกัน