ALT Quarter 1/2022: Revenue recovered to 286 million, up 34%.

ลั่นปีนี้ ”โครงข่ายข้ามแดนออกผล-โซลาร์รูฟท็อปมาแรง”

เอแอลที ส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน ไตรมาส 1/2565 กวาดรายได้ 286 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% รับอานิสงค์ธุรกิจโครงข่ายสื่อสารข้ามแดนโต 57%  มั่นใจผลงานทั้งปีสดใส บริการแบนด์วิดท์ระหว่างประเทศเติบโตต่อเนื่อง สถานีชายฝั่งเชื่อมต่อเคเบิ้ลแล้วเสร็จพร้อมส่งมอบเตรียมรับรู้รายได้ไตรมาส 2  พร้อมรับสัญญาลูกค้ารายใหญ่ข้ามชาติเพิ่มอีก 1 รายอายุสัญญา 20 ปี มูลค่ากว่า 1 พันล้าน ขณะที่ธุรกิจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อฟมีลูกค้าในมือแล้วกว่า 10 เมกกะวัตต์ มูลค่าสัญญากว่า  600 ล้านบาท

นายสมบุญ เศรษฐ์สันติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานการเงินและบัญชี บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1  สิ้นสุด วันที่ 31 มี.ค.2565 ว่าบริษัทมีรายได้รวม 286.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 213.46 ล้านบาท 

รายได้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลักๆ มาจากการให้บริการโครงข่ายที่มียอดเพิ่มขึ้น 57.2% จาก 66.21ล้านบาท เป็น 104.10ล้านบาท ธุรกิจขายสินค้ามียอดรายได้เพิ่มขึ้น 31.89 ล้านบาท หรือ 694.9%  จาก 4.59 ล้านบาทเป็น 36.48 ล้านบาท โดยหลักๆ มาจากขายแผงโซล่าเซลล์ ส่วนรายได้จากงานบริการค่อนข้างทรงตัวเพิ่มขึ้น 2% จาก 142.67 ล้านบาทเป็น 145.54 ล้านบาท สิ้นไตรมาส 1 บริษัทมีงานในมือ หรือ Backlog 1,585 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมมูลค่าสัญญา โซลาร์รูฟท็อป พีพีเอ ที่รับรู้เพิ่มในเดือนเมษายนอีกราว 420 ล้านบาท และลูกค้าต่างประเทศรายใหญ่อีกกว่า 1 พันล้านบาท ทำให้งานในมือปัจจุบันมีมูลค่าเพิ่มเป็น 3 พันล้านบาท

“กำไรขั้นต้นเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า คือจากกำไร 8.18 ล้านบาทเป็นกำไร 37.74 ล้านบาท ทำให้ผลการดำเนินงาน ไตรมาส 1/2565 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นชัดเจน โดยมียอดขาดทุนสุทธิเพียง 7.50 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่บริษัทมียอดขาดทุนสุทธิถึง 32.09 ล้านบาท” นายสมบุญกล่าว

นายสมบุญกล่าวว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2565 บริษัทยังคงเดินหน้าเพื่อให้บริการโครงข่ายรองรับการเติบโต ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น ASEAN DIGITAL HUB ควบคู่กับการขยายบริการสู่กิจการด้านพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะและพลังงานทดแทน รวมถึงการเสริมสร้างบริการสนับสนุนการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ โดยอาศัยแอปพลิเคชัน-แพลตฟอร์มต่างๆ

โดยธุรกิจโครงข่ายไฟเบอร์ใยแก้วนำแสง ซึ่งเป็นธุรกิจหลักแต่เดิม บริษัทได้วางโครงข่ายหลัก (Backbone Network) ลงทุนครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศเรียบร้อยแล้ว รวมถึงมีการสร้างสถานีฐานเพื่อเชื่อมต่อกับโครงข่ายของผู้ประกอบการในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย โดยมีการลงทุนผ่านกิจการร่วมค้า คือบริษัท สมาร์ท อินฟราเนท จำกัด และ บริษัท อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด  เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าภายในประเทศ และลงทุนผ่าน บริษัทย่อย คือ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เกทเวย์ จำกัด เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในต่างประเทศ รวมถึง ลงทุนผ่านบริษัทร่วมคือ เมียนมาร์ อินฟอร์เมชั่น จำกัด ให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ลูกค้าในเมืองย่างกุ้ง 

“งานบริการโครงข่ายยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทได้ดำเนินการก่อสร้างสถานีชายฝั่งเพื่อให้บริการเชื่อมต่อโครงข่ายภาคพื้นน้ำ (Cable Landing Station – CLS) ในจังหวัดสตูลแล้วเสร็จ พร้อมส่งมอบให้กับลูกค้าและจะเริ่มรับรู้รายได้ใน ไตรมาส2/2565” นายสมบุญ กล่าว

จากความสำเร็จในโครงการแรกที่บริษัทได้ให้บริการ CLS กับลูกค้าต่างประเทศที่เป็นผู้ให้บริการข้อมูลรายใหญ่ได้ช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือของบริษัท นำไปสู่การขยายฐานลูกค้าต่างประเทศรายใหญ่ เพิ่มได้อีก 1 ราย มีสัญญาระยะยาว 20 ปี มูลค่ารวมตลอดอายุสัญญากว่า 1 พันล้านบาท ได้ลงนามสัญญากับลูกค้าแล้วเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ในส่วนของธุรกิจบริการจัดการพลังงานที่บริษัทได้ขยายงานเพิ่มเติม โดยเป็นผู้ลงทุนและติดตั้งระบบและอุปกรณ์ Solar Rooftop ให้กับภาครัฐและภาคเอกชน เช่น ผู้ประกอบการโรงงานและอุตสาหกรรมขนาดกลาง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับลูกค้าเพื่อใช้งาน ซึ่งมีราคาถูกว่าค่าไฟฟ้าที่ลูกค้าต้องจ่าย  ปัจจุบันบริษัทมีสัญญากับลูกค้าแล้วกว่า 10 ราย ขนาดกำลังการผลิตรวม 10 เมกะวัตต์ สัญญาอายุตั้งแต่ 10-20 ปี มูลค่าสัญญารวมประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งจะสร้างรายได้ให้บริษัทได้ประมาณปีละ 37 ล้านบาท (กำลังการผลิตเต็มปี)